balldoo
Menu

ประเพณีฉุดสาว วัฒนธรรมบนน้ำตาของสาวชาวม้ง

        ประเพณีฉุดสาว เป็นธรรมเนียมของชาวม้งอีกอย่างหนึ่ง ที่อนุญาตให้ผู้ชายสามารถฉุดผู้หญิงที่ยังไม่เคยต้องชายใดมาก่อน กลับเข้าบ้านและอยู่กินได้แบบไม่ผิดผี โดยประเพณีนี้จากการศึกษาของ พิสิษฐ์ โรจน์คณรัชต์ ได้อธิบายขั้นตอนดังนี้ว่า

        การฉุดสาวเป็นการทำกันโดยกลุ่มผู้ชายทั้งวัยรุ่นไปจนถึงวัยกลางคน ผู้ฉุดจะทำการส่งเสียงเรียกฝ่ายหญิงหรือแม้กระทั่งดักรอผู้หญิงออกมาจากนอกบ้านเพียงลำพัง ก่อนจะใช้กำลังฉุดขึ้นรถกระบะกลับไปอยู่ที่บ้านประมาณ 1-3 คืน เมื่อเสร็จสมก็จะส่งตัวแทนจากบ้านตัวเองไปหาพ่อ-แม่ฝ่ายหญิงต่อรองสู่ขอกันตามธรรมเนียม

        ขั้นตอนการสู่ขอพ่อแม่ฝ่ายหญิง แม้มีสิทธิในการปฏิเสธความรักที่เกิดจากฉุดครั้งนี้ แต่ความเป็นจริงกลับเป็นเรื่องยากที่จะเรียกร้องให้ส่งคืนลูกสาวตัวเองคืนมา เนื่องจากสภาพความเชื่อที่ไม่ต้องการเห็นลูกตัวเองเป็นแม่หม้ายหรือหญิงที่ผ่านสามีมาก่อนนั่นเอง

        นักศึกษาวิถีชีวิตชาวม้งนี้ได้ให้เหตุผลที่มาของประเพณีสร้างน้ำตาอย่างชอบธรรมว่าเป็นเรื่องที่เกิดจากมิติด้านสภาพแวดล้อม โดยในอดีตชาวม้งเป็นกลุ่มคนจีนอพยพจากภัยความรุนแรงมายังบริเวณตอนเหนือของไทย และกระจายไปตามเทือกเขาต่างๆ

        บวกเข้ากับมิติวัฒนธรรมที่นิยมอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่เพื่อช่วยเหลือกัน การแต่งงานจึงมักเกิดจากการคลุมถุงชนระหว่างผู้หญิงม้งอีกเขาลูกหนึ่ง กับ ผู้ชายม้งอีกเขาลูกหนึ่ง แบบที่ทั้งคู่ไม่ได้รักกัน ต่อมาชาวม้งจึงเริ่มอาศัยวิธีหนีไปกับผู้ชายที่ตัวเองรัก ประเพณีการฉุดสาว จึงเกิดขึ้นมาเพื่อปิดช่องโหว่ดังกล่าวสำหรับครอบครัวคลุมถุงชนฝ่ายชายนั่นเอง

        เมื่อโลกพัฒนาไปอีกก้าว ประเพณีฉุดสาว จึงกลายสภาพจากธรรมเนียมโบราณเป็นการตีตราพิธีกรรมที่ลิดรอนคุณค่าผู้หญิงแบบถึงที่สุด ทั้งการมองเป็นวัตถุที่แบกขึ้นกระบะไปไหนมาไหนก็ได้ รวมถึงการมองความสำคัญผู้หญิงเพียงแค่การหลับนอนกับผู้ชายแค่ครั้งเดียวในสายตาของพ่อแม่จนต้องยอมยกลูกสาวให้กับผู้ชายที่พรากไป

        แน่นอนว่าปัจจุบันการฉุดสาวแบบขืนใจได้ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับอดีต มีการเรียกร้องให้เลิกประเพณีการฉุดหญิงสาวมาเป็นภรรยา เพราะประเพณีนี้มักตามมาด้วยปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวจึงเป็นเหตุให้ ปี 2559 ชมรมม้งแห่งประเทศไทยและชาวม้งที่กระจายอยู่ทั่วโลกเลยต่างออกมายืนยัน การฉุดสาวมาเป็นภรรยาไม่ใช่ประเพณีของชาวม้งอีกต่อไป รวมถึงนับให้เป็นความผิดทางกฎหมายต่อไป

        ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การให้คุณค่ากับวัฒนธรรมก็เปลี่ยนไปเหมือนกันทั้งประเพณี สิ่งของ ความคิด รวมถึงไปคุณค่าของผู้หญิง ชาย รวมไปถึงเพศหลากหลายที่แต่เดิมเป็นเพียงคนชายขอบให้กลับมาเสมอเท่ากันอย่างแท้จริง ติดตามความรู้เพื่อความเข้าใจในความหลากหลายได้ที่ iNN Lifestyle

โพสต์โดย : Kingdom Kingdom เมื่อ 6 ส.ค. 2567 03:41:00 น. อ่าน 19 ตอบ 0

facebook