balldoo
Menu

รายการอาหารแลกเปลี่ยนจำกัดโซเดียม

    เมื่อมีการสั่งอาหารลดหรือจำกัดโซเดียมสำหรับผู้ป่วย นักกำหนดอาหารจำเป็นต้องคำนวณอาหารเพื่อให้ทราบปริมาณอาหารที่ผู้ป่วยรับประทานได้ และปริมาณโซเดียมที่มีอยู่ในอาหารนั้นโดยเฉพาะถ้าเป็นการจำกัดโซเดียมปานกลาง(moderate sodium restriction) หรือต่ำกว่านี้ เพราะอาหารแต่ละชนิดมีปริมาณโซเดียมมากน้อยแตกต่างกัน ในการคำนวณอาหารลดโซเดียมจะสะดวกและสามารถทำได้ง่ายขึ้น ถ้านำคุณค่าอาหารในรายการอาหารแลกเปลี่ยนจำกัดโซเดียมมาใช้ ส่วนรายละเอียดของอาหารแต่ละหมวดในรายการอาหารแลกเปลี่ยนลดโซเดียม มีดังนี้
    1. หมวดน้ำนมและผลิตภัณฑ์ น้ำนม 1 ส่วน มีคาร์โบไฮเดรต 12 กรัม โปรตีน 8 กรัม ไขมัน 8 กรัม มีโซเดียม 5 มิลลิอิควิวาเลนต์ ส่วนเนยแข็ง 1 ออนซ์ ซึ่งมีโปรตีนเทียบเท่ากับนมสด 1 ถ้วยตวง นั้นมีโซเดียมมากกว่า 3 เท่าของโซเดียมในนมสด
    2. หมวดผัก ผักแต่ละชนิดมีปริมาณโซเดียมแตกต่างกัน ผักที่มีโซเดียมมาก ผู้ป่วยที่จำกัดโซเดียมอย่างเคร่งครัดไม่ควรรับประทาน ได้แก่ แครอท บีทรูท ขึ้นฉ่ายฝรั่ง ในกรณีที่จำกัดโซเดียมมาก (ต่ำกว่า 1,000 มิลลิกรัม) การใช้ผักในการประกอบอาหารต้องนำมาพิจารณาด้วยผักที่ใช้ในการประกอบอาหารลดโซเดียมควรเป็นผักสด ผักแช่เย็นแข็ง ผักกระป๋องที่ไม่ใส่เกลือ เป็นต้น ถ้าผู้ป่วยต้องจำกัดโซเดียมอย่างมาก ต้องเลือกชนิดของผักในการเตรียมอาหาร ซึ่งโซเดียมในผักมีปริมาณที่แตกต่างกันตามชนิดของผัก
    3. หมวดผลไม้ ผลไม้เป็นอาหารที่มีโซเดียมน้อย แต่เมื่อนำไปปรุงแต่งเช่น ทำขนม หากมีการเติมเกลือจะมีโซเดียมเพิ่มขึ้น เช่น กล้วยบวชชี ผลไม้ดอง และแช่อิ่มที่มีการเติมเกลือ
    4. หมวดข้าวและธัญพืช หากมิได้ปรุงแต่งจะมีปริมาณโซเดียมน้อย แต่ถ้าผ่านการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ พบว่า ปริมาณโซเดียมจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการเติมเกลือในกรรมวิธีการผลิต เช่น บะหมี่ ขนมปัง มะกะโรนี เป็นต้น ดังนั้นหมวดข้าวและธัญพืชจะมีปริมาณโซเดียมแตกต่างกัน
    5. หมวดเนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์มีหลายชนิดจึงทำให้มีปริมาณโซเดียมแตกต่างกัน คือ เนื้อสัตว์ไขมันต่ำมาก และเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ ซึ่งเป็นอาหารที่ได้จากทะเลและไข่ ในปริมาณ 1 ส่วนให้โซเดียมประมาณ 3 มิลลิอิควิวาเลนต์ ส่วนเนื้อสัตว์ไขมันปานกลาง และไขมันสูงได้แก่ เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ ในประมาณ 1 ส่วนให้โซเดียมประมาณ 1 มิลลิอิควิวาเลนต์
    6. หมวดไขมัน ได้แก่ น้ำมันพืชทุกชนิด และไขมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันหมู เนยแท้ชนิดจืด ไม่มีโซเดียม ส่วนไขมันที่มีโซเดียม ได้แก่ ไขมันที่มีน้ำปนและเติมเกลือ เช่น เนยสดชนิดเติมเกลือ เนยเทียมชนิดเค็ม เป็นต้น

โพสต์โดย : solo solo เมื่อ 14 ต.ค. 2566 17:53:43 น. อ่าน 39 ตอบ 0

facebook