balldoo
Menu

3 เทคนิคจิตวิทยา ที่จะช่วยให้การออมเงินของคุณสำเร็จได้ตามเป้าหมาย


โดยธรรมชาติทางพฤติกรรมของคนเรานั้นมักจะคาดหวังว่า “ตัวเราในอนาคตต้องดีกว่าเดิม” นั่นจึงทำให้ในเวลาที่เราวางแผนการออมเงิน เรามักจะคิดสัดส่วนเงินออมในอัตราที่เกินจริง และทำไม่ได้ จากงานศึกษาทางจิตวิทยาของ  De La Rosa ในการสอบถามกลุ่มตัวอย่างเดิมใน 2 ช่วงเวลา คือ ก่อนได้รับเงินคืนภาษี และหลังได้รับเงินคืนภาษีแล้ว พบว่า ในช่วงก่อนได้รับเงินคืนภาษี กลุ่มตัวอย่างได้กำหนดอัตราการออมเงินที่ได้จากการคืนภาษีไว้สูงถึง 27% แต่กลับลดลงอย่างมากในช่วงได้รับเงินคืนภาษีแล้ว เหลือเงินออมเพียง 17% เท่านั้น นั่นก็เพราะเมื่อคุณอยู่กับปัจจุบัน ได้เงินที่เคยเห็นว่าอยู่ในอนาคต มาอยู่ในปัจจุบันแล้ว คุณจะมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าคุณต้องจ่ายไปกับอะไรบ้าง นั่นจึงทำให้อัตราการออมลดลง  De La Rosa จึงได้แนะนำเทคนิคในการออมเงินข้อที่ 1 ว่า ให้เก็บเงินออมให้เหมือนชำระหนี้ โดยคุณควรจะมีบัญชีอีกหนึ่งบัญชีเอาไว้สำหรับการออมเท่านั้น และให้ตั้งหักบัญชีอัตโนมัติจากบัญชีเงินเดือนเหมือนการชำระหนี้อื่น ๆ  เพื่อโอนเข้าบัญชีเงินออมในอัตราส่วนที่พอดี คือ  3 – 12% แล้วคุณก็จะมีเงินเก็บในทุก ๆ เดือนค่ะ 



คุณจะสังเกตเห็นว่าคุณมักจะมีความมุ่งมั่นและให้สัญญากับตัวเองเมื่อชีวิตของคุณกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เช่น เมื่อใกล้ถึงปีใหม่ คุณมักจะบอกกับตัวเองว่า “ฉันจะลดน้ำหนัก” หรือ เมื่อเริ่มงานที่ใหม่ คุณจะมีปณิธานว่า “ฉันจะตั้งใจ และขยันทำงาน” ซึ่งในทางจิตวิทยา เรียกปรากฏการณ์ทางพฤติกรรมเช่นนี้ ว่า “ปรากฏการณ์การเริ่มต้นใหม่” ซึ่ง De La Rosa ได้ทำการศึกษาทางจิตวิทยาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวในวัยสูงอายุ  ผ่านเว็บไซต์ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้แบ่งปันที่พักอาศัยให้กับกลุ่มคนที่ต้องการ โดยในการศึกษาได้ทำการทดลองกับสื่อโฆษณา 2 รูปแบบ คือ แบบแรกใช้คำในโฆษณา ว่า “คุณเริ่มอายุเยอะแล้วนะ คุณพร้อมสำหรับการเกษียณหรือยัง? การแบ่งปันที่พักช่วยคุณได้” กับแบบที่ 2 ใช้คำโฆษณา ว่า “คุณอายุ 64 ย่าง 65 แล้วนะ คุณพร้อมสำหรับการเกษียณรึยัง? การแบ่งปันที่พักช่วยคุณได้” ผลการศึกษาพบว่า โฆษณาในรูปแบบที่ 2 ที่เน้นย้ำให้เห็นว่าชีวิตกำลังจะเปลี่ยนแปลง มีคนเข้าชมจำนวนมากกว่าการโฆษณาแบบแรกอย่างมาก และมีคนสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนับสำคัญ ดังนั้น เมื่อคุณเห็นว่าชีวิตของคุณกำลังจะเดินทางสู่ความเปลี่ยนแปลง คุณจะเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อคุณกำลังจะออมเงินขอให้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แล้วคุณจะตั้งมั่นในการออมมากขึ้น 



จากการรวบรวมสถิติการใช้จ่ายของกลุ่มตัวอย่างชาวนิวยอร์ก โดย De La Rosa พบว่า รายจ่ายที่เป็นเงินจำนวนมากที่สุดในแต่ละเดือนของชาวนิวยอร์ก ไม่ใช่การซื้อของชิ้นใหญ่ ๆ เข้าบ้าน หรือซื้อของแพง ๆ แต่เป็นการจ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่จ่ายทุกวันอย่างเช่น การรับประทานอาหารนอกบ้าน การดื่มกาแฟนอกบ้าน ค่าใช้จ่ายสำหรับบริการเล็ก ๆ น้อย ๆ ผ่านแอปพลิเคชั่น เป็นต้น ดังนั้น หากคุณจดบันทึกทุกการใช้จ่ายไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตามที่คุณใช้จ่ายในหนึ่งเดือน แล้วนำมาพิจารณาดู คุณจะเห็นเลยค่ะว่าคุณสามารถลดรายจ่ายในส่วนไหนได้บ้าง เช่น ทำอาหารเองมากขึ้น ทานอาหารนอกบ้านลดลง ลองชงกาแฟใส่แก้วเก็บอุณหภูมิไปดื่มที่ทำงานแทนการซื้อดื่ม ดูภาพยนตร์ผ่านสตรีมมิ่งต่าง ๆ แทนการไปดูในโรงภาพยนตร์ แล้วสิ้นเดือนต่อมาคุณจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยค่ะว่า คุณมีเงินเหลือสำหรับการออมเพิ่มมากขึ้น แถมยังมีเวลาเหลือ ๆ ที่จะใช้ร่วมกับคนที่คุณรัก หรือใช้สำหรับการพักผ่อน การดูแลตัวเองด้วยค่ะ 


นอกจากนี้ De La Rosa ได้เน้นย้ำว่า พฤติกรรมการออมเงินนั้นไม่เกี่ยวกับระดับความฉลาด ไม่เกี่ยวกับความมุ่งมั่น หรือความตั้งใจ แต่มันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนในการออม จากการศึกษาทางจิตวิทยาของ  De La Rosa เอง ได้พบว่า เมื่อแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกรับรู้บัญชีรายรับ – รายจ่าย เป็นรายเดือน กับกลุ่มที่ 2 ที่รับรู้บัญชีรายรับ – รายจ่าย เป็นรายสัปดาห์ ผลปรากฏว่า เมื่อสิ้นเดือน กลุ่มที่ 2 กลับมีเงินออมมากกว่ากลุ่มแรกอย่างมีนัยยะสำคัญ นั่นก็เพราะพวกเขารับรู้การเคลื่อนไหวทางการเงินถี่กว่า จึงเกิดความตระหนักที่จะใช้เงินมากกว่านั่นเอง  


พวกเราเองก็เช่นกันค่ะ หากมีการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการออมเงิน รวมถึงทำตาม 3 เทคนิค คือ เก็บเงินออมให้เหมือนชำระหนี้ มุ่งมั่นในการเก็บเงินให้เหมือนกำลังจะปีใหม่ และตัดรายจ่ายที่จ่ายน้อยแต่บ่อยครั้งออกไปบ้าง คุณก็สามารถออมเงินได้ตามเป้าหมายที่คุณตั้งไว้ ให้มีพอใช้ในยามฉุกเฉินแน่นอนค่ะ


โพสต์โดย : เจ้าหนู เจ้าหนู เมื่อ 13 ต.ค. 2566 18:59:32 น. อ่าน 39 ตอบ 0

facebook