balldoo
Menu

ประวัติตึกร้างสาทร

ย้อนรอยตึกร้างสาทร ร่องรอยความทรงจำต้มยำกุ้งที่ขายไม่ออก สร้างต่อไม่ได้ สู่ตึกร้างผีสิง

ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย มนุษย์เรามักจะทิ้งร่องรอยเหตุการณ์บางอย่างที่สำคัญ ๆ ไว้กับสถานที่ อย่างที่สหรัฐอเมริกามีรูปปั้นเทพีเสรีภาพตั้งอยู่บนเกาะ Liberty เพื่อระลึกถึงวันประกาศอิสรภาพ หรืออย่างที่ประเทศไทยสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อนึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พอเวลาผ่านไป สถานที่เหล่านี้ก็เปลี่ยนหน้าที่ไปตามยุคสมัยจากการเป็นบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ไปเป็นสถานที่ท่องเที่ยวบ้าง แหล่งรวมตัวทำกิจกรรมกันบ้าง

แต่หลายๆ ครั้ง อนุสรณ์ความทรงจำก็ไม่ได้ก่อตัวขึ้นจากความจงใจ โดยเฉพาะเมื่อเหตุการณ์นั้นเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยจะดีนัก อย่างที่ตึกสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ (Sathorn Unique Tower) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ตึกร้างสาทร” กลายเป็นหมุดหมายที่แสดงร่องรอยความเสียหายจากวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางกรุงเทพ ฯ ชวนให้ผู้คนนึกถึงช่วงเวลาที่ไม่น่าจดจำอยู่เสมอ

ตึกสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ เป็นตึกสถาปัตยกรรมแบบโรมันสูง 185 เมตร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัท Rangsan & Associates ในปี 2533 โดยได้รับการออกแบบและพัฒนาจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัทได้วางแผนให้ตึกสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ เป็นคอนโดมิเนียมสุดหรู 49 ชั้น 600 ยูนิต

ขณะนั้นไทยเป็นหนึ่งในเสือทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดประเทศหนึ่งในอินโดจีน ในระหว่างปี 2528-2539 เศรษฐกิจของประเทศมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ราว 9 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เพราะมีเงินลงทุนไหลเข้ามาจากต่างประเทศมหาศาล 

อาคารแห่งนี้คือโปรเจ็กต์ระดับ 1,800 ล้านบาท จากการบอกเล่าของนายพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ ลูกชายของนายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ โดยมีแหล่งเงินทุนมาจาก เงินลงทุนของบริษัท สาธรยูนีค จำกัด และเงินพรีเซลล์จากลูกค้า แต่เงินจาก 2 แหล่งก็ยังไม่เพียงพอที่จะดลบันดาลให้โครงการนี้เกิดขึ้นมา

เงินกู้จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไทยเม็กซ์ จำกัด (มหาชน) จึงเป็นแหล่งทุนก้อนสุดท้าย ที่เป็นตัวกำหนดชะตาของตึกสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ 

แต่ตอนนั้นไม่มีใครรู้เลยว่า เงินก้อนนี้จะเป็นจุดพลิกผันที่ไม่อาจย้อนกลับเช่นเดียวกัน…

จุดเริ่มต้นเส้นทางที่ไม่ราบรื่นของตึกนี้เริ่มต้นที่นายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ ถูกตั้งข้อหาในคดีจ้างวานฆ่านายประมาณ ชันซื่อ ประธานศาลฎีกาในขณะนั้น ก่อนที่ศาลจะยกฟ้องในภายหลัง แต่ข้อหาในขณะนั้นทำให้บริษัทสถาบันการเงินระงับการปล่อยเงินกู้ชั่วคราวในช่วงที่ อ. รังสรรค์ ถูกขังหลายเดือนก่อนจะกลับมาปล่อยกู้อีกครั้งหลังจากได้รับการประกันตัว

หลังจากนั้น เหตุการณ์สำคัญที่กำหนดให้ชะตากรรมของตึกสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ที่ใช้เงินลงทุนมหาศาลต้องกลายเป็นตึกร้างมาจนถึงปัจจุบันคือ วิกฤติการณ์ต้มยำกุ้งในปี 2540

ย้อนกลับไปก่อนวิกฤติจะปะทุขึ้น เศรษฐกิจของไทยขณะนั้นเติบโตอย่างมาก ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ขณะอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้บรรดาผู้ประกอบการกู้ยืมเงินจำนวนมากมาจากต่างประเทศมาลงทุน (มีถึงระดับ กู้เงินต่างประเทศมาฝากในไทยด้วยซ้ำ เพราะดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้) เลยเป็นสาเหตุให้ไทยมีเงินไหลมาเทมา

ปัญหาคือนโยบายของรัฐบาลในช่วงนั้น ในปี 2536 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งสถาบันการเงินดำเนินกิจการวิเทศธนกิจ (BIBF) เพื่อเป็นแหล่งกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ต่างประเทศมาปล่อยสินเชื่อในประเทศไทย ในบรรยากาศเศรษฐกิจที่เงินสะพัด บริษัทเงินทุนต่างพากันปล่อยสินเชื่อโดยขาดความระมัดระวังโดยเฉพาะในวงการอสังหาริมทรัพย์ที่ควรจะกู้เงินในรูปแบบหนี้ระยะยาว แต่ในขณะนั้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้นกันหมด

การกู้ยืมเงินจากต่างประเทศจำนวนมหาศาลและไม่มีทีท่าว่าจะหยุดหย่อนในช่วงนั้นทำให้ หนี้ของไทยที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศเริ่มพุ่งสูงขึ้นกว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่ในขณะนั้นไทยใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่โดยการยึดติดกับสกุลเงินดอลลาร์ ในขณะนั้น 1 ดอลลาร์เท่ากับ 25 บาท เลยไม่มีใครกังวลว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราจะกระทบกับการใช้หนี้

ในช่วงสิ้นปี 2539 หนี้จากต่างประเทศมีมูลค่าสูงถึง 90.5 พันล้านดอลลาร์และส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้น ซึ่งหนี้ต่างประเทศนี้ 73.7% เป็นของภาคเอกชน ส่วนที่เหลือเป็นของรัฐบาล

เมื่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปดอลลาร์ของธนาคารแห่งประเทศไทยแทบจะไม่เหลือหลอ ประชาชนจึงขาดความเชื่อมั่นและพากันไปแลกเป็นเงินดอลลาร์ จนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องประกาศ “ลอยตัวค่าเงิน” ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 จนทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างมากจนอ่อนสุดเป็นประวัติการณ์มากกว่า 50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์

ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงทำให้หนี้ต่างประเทศยิ่งเพิ่มสูงขึ้น จนในเวลาไม่ถึงปี หนี้ต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.09 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหนี้ของภาคเอกชนไปแล้ว 8.52 หมื่นล้านดอลลาร์ และ 65% ของหนี้ทั้งหมดเป็นหนี้ระยะสั้น ทำให้ภาคเอกชนไม่มีเงินไปชำระหนี้ จนในที่สุดในช่วงสิ้นปี 2540 รัฐบาลก็ได้สั่งปิดบริษัทด้านการเงินกว่า 50 แห่ง 

บริษัทไทยเม็กซ์คือหนึ่งในบริษัทเงินทุนที่ถูกปิดไป ทำให้ไม่สามารถปล่อยกู้ให้กับโครงการสาธรยูนีคได้อีกต่อไป เลยต้องหยุดสร้างตึกลงในปี 2540 หลังจากสร้างไปแล้ว 80%

ตึกจำนวนมากที่ถูกทิ้งร้างไปในช่วงวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้งได้รับการฟื้นฟูและสร้างให้แล้วเสร็จเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ไม่ใช่กับตึกสาธร ยูนีค ทาวเวอร์แห่งนี้ที่แม้จะมีความพยายามหลายครั้งในเรื่องการซื้อขายและการรีไฟแนนซ์แต่ก็ยังไม่สำเร็จจนล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน เพราะนายพรรษิษฐ์ต้องการขายให้ได้ราคาอย่างน้อยเท่ากับต้นทุนที่ลงทุนไปเพื่อนำเงินมาคืนให้กับผู้ร่วมโครงการและลูกค้าที่พรีเซลล์จึงคิดราคาขายตามยอดหนี้ทั้งหมดและเสนอขายตึกในราคา 3,000 ล้านบาท

นายพรรษิษฐ์เผยว่าที่ผ่านมามีนักลงทุนสนใจซื้อตึกนี้มากมาย แต่ก็สู้ราคาไม่ไหวหรือบางทีก็เป็นเพราะการออกแบบตึกที่ปัจจุบันนิยมห้องเล็กมากกว่า ไม่เหมือนห้องบนตึกสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ที่ค่อนข้างมีขนาดใหญ่ รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินจากทางฝั่งนักลงทุนที่มาจากต่างประเทศเอง ส่วนหากนายพรรษิษฐ์จะลงทุนสร้างต่อเองก็ไม่คุ้มทุนเพราะในช่วงเริ่มสร้างมีคนพรีเซลล์ไปแล้วราว 90% หากจะขายส่วนที่เหลือเพื่อนำเงินมาลงทุนก็ไม่เพียงพอต่อค่าบูรณะตึกใหม่

ส่วนการที่ตึกสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ที่เป็นร่องรอยความบอบช้ำจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งจะกลายมาเป็นไอคอนความหลอนใจกลางกรุงเทพฯ ได้อย่างไรนั้น เป็นเพราะหลังจากเจอวิกฤติการณ์เข้าไป เจ้าของก็ไม่สามารถดำเนินการสร้างต่อได้ ทำให้จำเป็นจะต้องปล่อยให้ตึกนี้มีสภาพเสื่อมโทรมลงไปเรื่อย ๆ  จนถูกทิ้งร้างและเริ่มเก่าไปตามระยะเวลา ด้วยวัฒนธรรมของคนไทยที่ผูกพันธ์กับเรื่องลี้ลับและไสยศาสตร์ ทำให้มีข่าวลือเรื่องหลอนมากมายเกิดขึ้นกับตึกนี้ อย่างเช่น ข่าวลือว่าตึกนี้สร้างไม่เสร็จเพราะมีอาถรรพ์ หรือข่าวลือที่ว่าตึกนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ของสุสาน ซึ่งข่าวลือส่วนใหญ่มักจะไม่มีมูลความจริงและแน่นอนว่าไม่มีใครที่สามารถพิสูจน์ได้อยู่ดี


โพสต์โดย : จัสมิน จัสมิน เมื่อ 5 ต.ค. 2566 13:33:30 น. อ่าน 38 ตอบ 0

facebook